หมีกสายวงสีน้ำเงิน หรือ หมึกบลูริง (Blue – ringed Octopus) อยู่ในสายปลาหมึกยักษ์ (Hapalochlaena spp) แต่มีขนาดลำตัวเล็ก จุดเด่นคือลายวงแหวนสีน้ำเงินสะท้อนแสงได้ ซึ่งกระจายอยู่ตามลำตัวและหนวด หมึกบลูริงตัวโตเต็มวัยจะมีขนาดอยู่ที่ประมาณ 4 – 5 เซนติเมตร และหนวดมีความยาวประมาณ 15 เซนติเมตร เคลื่อนที่ด้วยการใช้หนวดเดิน ชอบหลบซ่อนตัวและอาศัยอยู่ตามซอกหินใต้ท้องทะเล สามารถพบได้ในทั้งในทะเลอันดามัน และ ทะเลอ่าวไทย

ภาพจาก : https://www.forbesadvocate.com.au/story/7570384/can-you-identify-a-potentially-deadly-blue-ringed-octopus/
พิษของหมึกบลูริงร้ายแรงแค่ไหน
หมึกบลูริงเป็นสัตว์น้ำที่มีพิษร้ายแรงที่สุดในโลก โดยพิษของหมึกบลูริงร้ายแรงกว่างูมีพิษแบบงูเห่าถึง 20 เท่า และรุนแรงกว่างูทะเลอีกด้วย โดยพิษของหมึกบลูริง คือ Maculotoxin (มาคูโลทอกซิน) มีลักษณะคล้ายกับพิษเทโทรโดทอกซิน หรือ Tetrodotoxin เป็นพิษของปลาปักเป้า ออกฤทธิ์ทำลายระบบประสาท ไม่ให้สามารถเคลื่อนไหวได้ ทำให้เหยื่อตายหรือเป็นอัมพาต โดยพิษหมึกบลูริงจะอยู่ที่บริเวณต่อมน้ำลาย (Salivary gland) และพบได้ในปาก หนวด ลำไส้ และต่อมหมึก ดังนั้น การได้รับพิษของหมึกบลูริง เกิดจากการสัมผัส การถูกกัด หรือเผลอกินหมึกบลูริงเข้าไป ต่อให้นำหมึกบลูริงไปผ่านความร้อนหรือปรุงสุก แต่พิษก็ไม่ได้ถูกทำลายหรือสลายไป เพราะพิษหมึกบลูริงสามารถทนความร้อนได้ถึง 200 องศาเซลเซียส ดังน้้น ไม่ควรทานหมึกบลูริงเป็นอาหารเด็ดขาด
เมื่อถูกหมึกบลูริงกัด หรือกินหมึกชนิดเข้าไป เปรียบได้เหมือนกับฉีดยาพิษเข้าเส้นเลือด เพราะพิศจะออกฤทธิ์อย่างรวดเร็ว ผู้ถูกพิษอาจเสียมีอาการแพ้พิษ หรือเสียชีวิตได้ในรายที่รุนแรงภายใน 2-3 นาที ซึ่งเร็วยิ่งกว่าพิษของปลาปักเป้า

ภาพจาก : https://www.abc.net.au/news/science/2020-12-13/blue-ringed-octopus-bites-and-how-to-avoid-them/12942666
ผู้ที่โดนพิษของหมึกบลูริง มีอาการอย่างไร
อาการเริ่มแรกของผู้ที่ถูกกัด หรือกินหมึกบลูริงเข้าไป จะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ตาพร่า มองเห็นไม่ชัด หรือมองไม่เห็น ปวดศีรษะ ประสาทสัมผัสไม่ทำงาน กล้ามเนื้ออ่อนแรง พูดหรือกลืนน้ำลายไม่ได้ หายใจไม่ออก เนื่องจากกล้ามเนื้อกะบังลมและหน้าอกไม่ทำงาน ทำให้ไม่มีอากาศเข้าสู่ปอด จากนั้นจะเป็นอัมพาต และหยุดหายใจเนื่องจากสมองขาดออกซิเจน และเสียชีวิตอย่างรวดเร็วหากได้รับการช่วยเหลือไม่ทัน

หมึกบลูริงมีพิษร้ายแรง แต่ทำไมจึงมีคนนำมาปรุงเป็นอาหารจำหน่ายจนกลายเป็นข่าว
ต้องยอมรับว่าตามลักษณะของหมึกบลูริง ที่มีสงแหวนสีน้ำเงินเรืองแสงได้ ประกอบกับขนาดที่เล็ก ทำให้หมึกบลูริง หรือหมึกสายวงน้ำเงิน กลายเป็นที่นิยมของกลุ่มคนผู้ชื่นชอบเลี้ยงปลาสวยงาม รวมไปถึงกลุ่มคนนิยมเลี้ยงสัตว์แปลก ๆ แม้ว่ากรมประมงจะไม่อนุญาตให้นำเข้าหมึกบลูริงเข้าประเทศ แต่ก็ยังมีคนลักลอบนำเข้าเพื่อจำหน่ายหรือเพื่อเลี้ยงดูตามความชอบส่วนตัว อีกทั้งมีหน่วยงานราชการที่เลี้ยงหมึกสกุลนี้ไว้เพื่อการศึกษา จนกระทั่งในต้นปี ค.ศ.2016 ได้พบหมึกบลูริงถูกวางจำหน่ายบนแผงขายอาหารทะเล โดยปะปนมากับหมึกชนิดอื่น ๆ และพบถูกนำมาจำหน่ายในร้านปิ้งย่างที่เพิ่งเป็นข่าวเร็ว ๆ นี้นั่นเอง
รักษาอย่างไรเมื่อได้รับพิษหมึกบลูริง
ปัจจุบันยังไม่มียารักษา หรือยาต้านพิษหมึกบลูริง หากเผลอกินหรือถูกหมึกบลูริงกัด ควรรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด และระหว่างนำตัวส่งแพทย์ อาจใช้วิธีเป่าปาก (หากไม่มีเครื่องช่วยหายใจ) เพื่อนำอากาศเข้าสู่ปอด เพื่อช่วยยื้อเวลาของการขาดออกซิเจน ที่อาจทำให้ผู้ได้รับพิษเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันพิษหมึกบลูริง คือ หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้ เพื่อไม่ให้ถูกหมึกบลูริงกัด และห้ามบริโภคอย่างเด็ดขาด โดยก่อนทานอาหารทะเล โดยเฉพาะเมนูปลาหมึก จะต้องสังเกตลักษณะของหมึกให้ดี หากไม่แน่ใจ ก็อย่าไปเสี่ยงเลย รับประทานอาหารชนิดอื่นแทน เพื่อลดโอกาสความเสี่ยงในการได้รับพิษหมึกบลูริงดีกว่าค่ะ