ปัจจุบัน การกำจัดขยะเศษอาหารส่วนใหญ่ยังคงใช้วิธีการฝังกลบ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อโลกเราอย่างรุนแรง และเชื่อไหมว่า เราทุกคนต่างก็มีส่วนร่วมในการทำให้โลกร้อน เกี่ยวอะไรกับขยะอาหาร? เรามีเอี่ยวยังไง? และเราแก้ไขอะไรได้บ้าง มาหาคำตอบกันในบทความนี้กันค่ะ
การเดินทางของขยะอาหาร
เชื่อว่าทุกบ้านย่อมต้องมีการทิ้งขยะทุกประเภท และมากที่สุดคงหนีไม่พ้น ขยะเศษอาหาร และส่วนใหญ่ก็จะใส่ถุงขยะรวมกัน แล้วนำไปทิ้งไว้ที่จุดพักขยะ หรือถังขยะส่วนกลาง รอให้รถเทศบาลหรือรถเก็บขยะเป็นผู้รับไม้ต่อ นำขยะจากต้นทางไปสู่ปลายทาง เพื่อนำไปกำจัดที่ หลุมฝังกลบ แต่รู้ไหมว่า การทำลายขยะเศษอาหารด้วยการฝังกลบ ส่งผลกระทบต่อโลกเราอย่างร้ายกาจ จนใครหลายคนอาจคิดไม่ถึง เพราะระหว่างกระบวนการย่อยสลายอินทรีย์ขยะเศษอาหาร มีการปล่อยก๊าซมีเทนออกมาจำนวนมหาศาล ซึ่งก๊าซมีเทนเป็นอีกส่วนประกอบของ ก๊าซเรือนกระจก ตัวการที่ทำให้โลกร้อนนั่นเอง แล้วเราจะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร
แนวทางการลดขยะเศษอาหารมีอะไรบ้าง
แนวทางการลดขยะอาหารที่เราทุกคนสามารถทำได้ง่าย ๆ ได้แก่
- วางแผนการซื้ออาหาร ไม่ซื้อมากเกินความจำเป็น
เมื่อจะออกไปจับจ่ายซื้อวัตถุดิบ ของสด และอาหารอื่น ๆ ควรเช็กของที่มีก่อนว่าของอะไรหมด ของอะไรขาด ของอะไรที่ยังคงเหลืออยู่บ้าง และจดรายการว่าต้องซื้ออะไรบ้าง เพื่อจำกัดปริมาณของที่จะซื้อ นอกจากจะช่วยให้ไม่ต้องซื้อของซ้ำ ลดปัญหาการทิ้งอาหารเพราะกินไม่ทันจนเน่าเสียหรือหมดอายุ ยังช่วยประหยัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น
นอกจากนี้ ลองเปลี่ยนไปช้อปปิ้งเดือนละ 2 ครั้ง แทนการไปจับจ่ายซื้อของทุกสัปดาห์ แล้วซื้อทุกอย่างที่ขวางหน้า โดยเฉพาะของลดราคา ที่อาจเผลอกระหน่ำช้อปไม่ยั้ง เพราะมันอาจไปจบลงที่ถังขยะโดยที่ไม่ทันได้ใช้ หรือใช้ไม่ทัน ก่อให้เกิด food waste ในที่สุด
- ใช้วัตถุดิบอย่างคุ้มค่า
กินได้แม้ไม่สวย : ผู้บริโภคส่วนใหญ่มักเลือกซื้อผักผลไม้ รวมไปถึงวัตถุดิบต่าง ๆ ที่มีรูปร่างหน้าตาสวยงาม เพอร์เฟกต์ ร้านค้า และแหล่งจำหน่ายหลายแห่งจึงปฏิเสธผักผลไม้ที่มีตำหนิ และคัดทิ้งให้กลายเป็นกลายขยะเศษอาหารอย่างน่าเสียดาย ทั้งที่มันสามารถทานได้ปกติ และยังคงมีคุณค่าสารอาหารครบถ้วน แต่กลับไม่มีโอกาสได้ขึ้นแท่นโชว์โฉมให้เป็นผู้ถูกเลือก
กินได้ทุกส่วน : บางส่วนของผักที่มักจะถูกตัดทิ้ง บางสิ่งยังกินได้ เช่น เปลือก ราก ใบ เมล็ด หากนำไปทำเป็นอาหารที่เหมาะสม ก็จะได้รสอร่อยและมีประโยชน์ แถมไม่ต้องทิ้งให้เป็นขยะอีกด้วย
กินได้ทั้งเปลือก : ผักผลไม้บางชนิดกินได้ทั้งเปลือก และยังมีคุณค่าทางโภชนาการมากกว่าที่จะกินเพียงเนื้อในอย่างเดียว เช่น แอปเปิ้ล แตงกวา หัวไชเท้า เป็นต้น
กินได้ใหม่ : เมนูเดิมที่กินเหลือ หรือผักผลไม้ที่สุกงอม อย่าทิ้ง! เพราะสามารถนำมากินได้อีกในเมนูใหม่ ๆ ไม่จำเจ อร่อยได้ไม่ซ้ำ และให้คุณประโยชน์ต่อร่างกายไม่ต่างกัน เช่น กล้วยที่สุกนำไปทำขนม หรือเศษผักเหลือ ๆ นำไปทำจับฉ่าย หรือแกงโฮะ เป็นต้น
- ปรุงอาหารแต่พอดี ทานแต่พออิ่ม
ควรใช้วัตถุดิบปรุงอาหารในปริมาณที่ทานหมด อะไรที่ไม่กินก็ไม่ควรใส่ลงไป แม่บ้านหรือพ่อครัวควรสอบถามสมาชิกในบ้านว่าใครไม่กินอะไรบ้าง จะได้ไม่ต้องใส่ลงไปปรุงอาหาร รวมไปถึงผักตกแต่งจานเพื่อความสวยงาม เพื่อป้องกันการเขี่ยทิ้งลงถังขยะ รวมไปถึงการตักอาหารแต่พอดี ที่สามารถกินได้แต่พออิ่ม กินได้หมดจาน หากทานอาหารบุฟเฟต์ ก็ควรตักเท่าที่กินหมด ไม่ควรตักเยอะ ๆ เพราะกลัวไม่คุ้ม เพราะสุดท้ายอาจกลายเป็นขยะเพราะทานไม่หมด
- จัดเก็บวัตถุดิบอย่างถูกวิธี
หลังจากที่ซื้อของทุกอย่างเข้าบ้าน อย่ารีบโยนทุกอย่างเข้าตู้เย็น โดยเฉพาะผักผลไม้ เพราะผักผลไม้บางชนิดจะปล่อยก๊าซเอทิลีนออกมาระหว่างที่เริ่มสุก เช่น กล้วย มะเขือเทศ อะโวคาโด้ แคนตาลูป ฯลฯ ซึ่งก๊าซเอทิลีนจะไปทำให้ผักผลไม้อื่น ๆ อย่าง แอปเปิล เบอร์รี่ต่าง ๆ พริกไทยสด เน่าเสียง่าย จึงต้องทำการแยกผักผลไม้ และวัตถุดิบอื่น ๆ รวมไปถึงอาหารสด ออกจากกัน ทางที่ดี ควรศึกษาวิธีการเก็บอาหารแต่ละประเภท เพื่อยืดอายุอาหารให้เก็บได้นานขึ้น ไม่เน่าเสียเร็วจนต้องกลายเป็นขยะในที่สุด
- ทำความเข้าใจให้ถูกต้อง BB / BBE หรือ EXP
อาหารแห้งและอาหารกระป๋องที่มีการระบุวันหมดอายุ ที่ระบุ “ควรบริโภคก่อน” (BB หรือ BBE ย่อมาจาก Best be for) คือ อาหารที่ยังสามารถบริโภคได้จนถึงวันที่ระบุไว้ ยังไม่หมดอายุ เพียงแต่รสชาติ ความสดใหม่ และคุณค่าอาหารอาจเปลี่ยนไปบ้างเล็กน้อย แต่สามารถทานได้ปกติโดยไม่เกิดโทษใด ๆ ต่อร่างกาย ต่างจาก อาหารที่ระบุ “วันหมดอายุ” หรือ EXP คือ วันหมดอายุของอาหาร ไม่ควรทานอาหารนั้น ๆ อีก เพราะจะทำให้เจ็บป่วยได้ ซึ่งหลายคนมักจะสับสน และเข้าใจผิดว่าอาหารหมดอายุ อาหารเสีย ทำให้ทิ้งอาหารที่ยังสามารถบริโภคได้ก่อนวันหมดอายุจริง
- ไม่เทรวม
การทิ้งขยะในเมืองไทยส่วนใหญ่ยังคงทิ้งแบบเทรวม ๆ กันใส่ถุง ซึ่ง 65 – 70 % เป็นขยะเศษอาหาร ปนเปื้อนขยะอื่น ๆ จนไม่สามารถแยกไปรีไซเคิลได้ ทำให้ต้องนำไปทำลายด้วยการเผาทิ้ง ก่อให้เกิดมลพิษจำนวนมาก และเปลืองงบประมาณในส่วนของค่ากำจัดขยะในแต่ละปีไม่ใช่น้อย ๆ เลย อีกทั้งยังทำให้เกิดมลภาวะ เป็นแหล่งเพาะพันธ์ุเชื้อโรคต่าง ๆ สกปรก และมีกลิ่นเหม็นเน่า ส่งผลต่อสุขอนามัยของคนในชุมชน แต่ถ้ามีการแยกขยะเศษอาหารออกไป ช่วยให้สามารถแยกขยะรีไซเคิล เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้อีก เช่น การนำไปรีไซเคิลเป็นพลังงานชีวภาพ แก๊ส น้ำมัน เป็นต้น ส่วนขยะอื่น ๆ ที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ ต้องนำไปทำลายทิ้งเท่านั้นจะมีปริมาณน้อยลง การเผาน้อยลง ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ค่าแรงถูกลง ประหยัดค่าใช้จ่าย ส่วนขยะเศษอาหารที่มีการแยกไว้ต่างหาก สามารถส่งต่อให้เกษตกรนำไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่น ๆ เช่น นำไปเลี้ยงสัตว์ในฟาร์ม หมักปุ๋ย ทำน้ำหมัก หรือส่งโรงงานแปลงเป็นอาหารสัตว์จำหน่ายต่อไปก็ได้เช่นกัน
- นำเศษอาหารไปหมักทำปุ๋ย (composting)
ปัญหาขยะเศษอาหารหรือขยะเปียก อาจกลายเป็นเรื่องที่น่าปวดหัว และสร้างความรำคาญใจได้ หากจัดเก็บและกำจัดไม่ดี เพราะ ทั้งกลิ่น แมลง และความสกปรก จะกลายเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค จนอาจทำให้คนในบ้านเจ็บป่วยได้ แต่ก็อยากรักษ์โลก ทำปุ๋ยหมักจากเศษอาหาร แต่ไม่สะดวกกับการที่จะมาคอยขุดดิน ทำหลุมฝังกลบ ไม่มีพื้นที่ ไม่อยากเสียเวลากลบ หรือต้องคอยพลิกกอง ยิ่งถ้าอยู่ในหอพัก หรือคอนโด ห้องเล็ก ๆ ที่แทบจะไม่มีที่เดิน ยิ่งเป็นไปได้ยาก แล้วต้องทำยังไง? ปัจจุบัน การหมักปุ๋ยด้วยขยะอาหารทำได้ง่ายมาก ๆ จบปัญหาทุกอย่างที่เป็นอุปสรรคในการรักษ์โลกของคนยุคปัจจุบัน เพียงแค่ใช้เครื่องย่อยเศษอาหารอัตโนมัติ ช่วยให้การหมักปุ๋ยง่ายขึ้น สะดวกสบาย ใช้งานง่าย แค่เปิดฝาเครื่อง เทเศษอาหารลงไปเรื่อย ๆ ไม่เกิน 2 วัน ได้ปุ๋ยทันใช้ ไม่ต้องรอนาน จากขยะเปียกแหยะ ๆ กลายเป็นเศษแห้ง ๆ เทลงดินได้เลย ให้กลายเป็นธาตุอาหารในดิน ต้นไม้พืชพรรณเติบโตดี หรือจะนำไปบำรุงผักริมระเบียง ได้ผักปลอดสารพิษ รสอร่อย มีสุขภาพดีไปอีก เป็นอีกแนวคิด Zero waste ลดขยะให้เป็นศูนย์ เพราะไม่เหลือขยะอาหารให้กำจัดทิ้งนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม การบริโภคแบบไม่เหลือทิ้งให้เป็นขยะอาหาร คือ วิธีที่ช่วยลดปัญหาขยะล้นโลก และช่วยลดการเกิดก๊าซเรือนกระจกที่ดีที่สุด เพราะเป็นการตัดต้นตอที่ก่อให้เกิดปัญหา ดังนั้น ปัจจัยที่ช่วยกำจัดขยะอาหารได้อย่างยั่งยืนที่สุด คือ การเริ่มลงมือที่ตัวเราเอง