เชื่อว่าหลายคนเคยได้ยินคำว่า “นาฬิกาชีวิต” กันมาบ้างแล้ว แต่บางคนอาจยังไม่เข้าใจว่านาฬิกาชีวิตคืออะไร
นาฬิการชีวิต คือ วงจรระบบการทำงานของร่างกายของมนุษย์ ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งจะเห็นได้ว่าผู้คนในปัจจุบันเริ่มให้ความสำคัญกับสุขภาพกันมากขึ้น วันนี้เราจึงได้นำวงจรนาฬิกาชีวิตในแต่ละช่วงเวลาสัมพันธ์กับการทำงานของระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายของเราอย่างไรบ้างมาฝาก เพื่อให้ได้นำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน และปรับพฤติกรรมเพื่อให้สอดคล้องกับช่วงเวลาการทำงานของระบบร่างกาย ทำให้ร่างกายแข็งแรง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ห่างไกลความเจ็บป่วยค่ะ
01.00 – 03.00 น. ช่วงเวลาของตับ
ช่วงเวลา 01.00 – 03.00 คือ ช่วงเวลาที่ร่างกายต้องการนอนหลับให้เพียงพอ เพื่อให้ระบบต่าง ๆ ได้ฟื้นฟูเต็มที่ รวมถึงระบบเลือดไหลเวียนไปยังตับได้จำนวนมาก ทำให้ตับสามารถผลิตและหลั่งสารฆ่าเชื้อโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขับสารพิษออกจากร่างกาย ลดระดับน้ำตาลในเลือด ใบหน้าดูอ่อนเยาว์ และถ้าหากเราไม่หลับในช่วงเวลานี้ ทำให้ระบบการส่งเลือดไม่มีคุณภาพ เลือดในตับน้อย ส่งผลให้มีอาการเวียนหัว อ่อนเพลีย หลังจากตื่นนอน และอาจรู้สึกหงุดหงิดได้ง่าย
03.00 – 05.00 น. ช่วงเวลาของปอด
ช่วงเวลาการทำงานของปอด คือ ตั้งแต่ 03.00 – 05.00 น. ดังนั้น ควรตื่นแต่เช้า หรือในช่วงเวลานี้ เพื่อสูดหายใจเอาอากาศบริสุทธิ์ในยามเช้า ให้ระบบหายใจได้ทำงานอย่างเต็มที่ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของปอดให้ฟอกเลือดได้อย่างเต็มที่ และส่งเลือดแจกจ่ายไปยังเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพอ ทำให้ร่างกายสดชื่น แจ่มใส และพร้อมทำกิจกรรมต่าง ๆ ของวันได้อย่างเต็มที่
05.00 – 07.00 น. ช่วงเวลาของลำไส้ใหญ่
ช่วงที่เหมาะสมต่อการเข้าห้องน้ำ ทำการขับถ่าย เพราะเป็นเวลาการทำงานของระบบลำไส้ใหญ่ โดยเราสามารถกระตุ้นระบบขับถ่ายได้ง่าย ๆ ด้วยการดื่มน้ำ 2 แก้ว หลังตื่นนอนทันทีเป็นประจำทุกวัน ร่างกายจะเคยชินกับการขับของเสียในช่วงเวลานี้ ส่งผลดีต่อสุขภาพ เพราะร่างกายได้ขับเอาของเสียและกากอาหารที่ไม่จำเป็นออกจากร่างกาย ทำให้ร่างกายสะอาด รู้สึกสดชื่น ผิวพรรณสดใส หน้าตาแจ่มใส ไม่มีพิษสะสมในร่างกาย และไม่ป่วยง่าย เพราะเชื้อโรค สารพิษ หรือแม้แต่ปรสิต ก็จะถูกขับออกไปจากร่างกายด้วย
07.00 – 09.00 น. ช่วงเวลาของกระเพาอาหาร
กระเพาะอาหารแข็งแรง สามารถย่อยอาหารและดูดซึมได้ดีที่สุดในช่วงเวลานี้ เราจึงควรรับประทานอาหารเช้าในระหว่างเวลานี้ และไม่ควรทานอาหารเช้าเกิน 09.00 น. โดยเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ มีคุณค่าสารอาหาร และให้พลังงานแก่ร่างกาย หลังจากที่ท้องว่างมาตลอดทั้งคืน
09.00 – 11.00 น. ช่วงเวลาของม้ามและตับอ่อน
ช่วงเวลานี้ ม้ามและตับอ่อนจะสามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ ตับอ่อนจะนำสารอาหารที่ได้หลังจากรับประทานอาหารเช้า ส่งไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ในขณะที่ม้ามทำหน้าที่สร้างภูมิต้านทานให้แก่ร่างกาย และคอยดักจับเชื้อโรคต่าง ๆ สำหรับใครที่มักตื่นสาย ไม่มีการทานอาหารเช้า ทำให้ตับและม้ามไม่ได้รับสารอาหาร และทำหน้าที่ในช่วงเวลาที่แข็งแรงที่สุด ส่งผลเสียต่อสุขภาพในด้านต่าง ๆ อ่อนเพลีย เวียนหัวบ่อย ภูมิต้านทานไม่แข็งแรง อาจทำให้ป่วยง่าย ป่วยบ่อยได้
11.00 – 13.00 น. ช่วงเวลาของหัวใจ
ความดันเลือดจะสูงขึ้นได้ง่ายกว่าปกติในช่วงระหว่าง 11.00 – 13.00 น. ส่งผลให้หัวใจทำงานหนัก ควรหลีกเลี่ยงสิ่งปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบหัวใจได้ เช่น ความเครียด ความกดดัน แต่ควรผ่อนคลายสมองและจิตใจ เพื่อให้การทำงานของหัวใจมีความสมดุล

13.00 – 15.00 น. ช่วงเวลาของลำไส้เล็ก
ควรงดอาหารในช่วงเวลานี้ เนื่องจากเป็นเวลาการทำงานของลำไส้เล็ก ทำหน้าที่ย่อยและดูดซึมสารอาหาร เช่น โปรตีน วิตามินซี วิตามินบี เพื่อซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ สร้างกรดอะมิโน สร้างเซลล์สมอง และช่วงเวลานี้ สมองซีกขวาจะทำงานได้ดี ทั้งในเรื่องความจำ ความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ และการวางแผน
15.00 – 17.00 น. ช่วงเวลาของกระเพาะปัสสาวะ
ควรดื่มน้ำเยอะ ๆ ในช่วงนี้ เพราะเป็นเวลาการทำงานของกระเพาะปัสสาวะ ร่างกายจะขับของเสียออกในรูปแบบของเหลว เช่น ปัสสาวะ และ เหงื่อ หากดื่มน้ำไม่เพียงพอ อาจทำให้ปัสสาวะไม่ออก หรือปัสสาวะได้น้อย และร่างกายขาดน้ำ เนื่องจากสูญเสียน้ำออกไปทางเหงื่อ และอย่ากลั้นปัสสาวะ เพราะจะทำให้ปัสสาวะถูกดูดซึมกลับเข้าสู่กระแสเลือด ส่งผลเสียต่อระบบไทรอยด์ ระบบสืบพันธุ์ และยังทำให้กระเพาะปัสสาวะอักเสบอีกด้วย
17.00 – 19.00 น. ช่วงเวลาของไต
ค่าไตจะขึ้นสูงมาก ในช่วงเวลา 17.00 – 19.00 เนื่องจากไตทำหน้าที่กรองของเสียออกจากเลือด และเผาผลาญโปรตีนออกจากร่างกาย ดังนั้น เพื่อให้ไตทำงานได้อย่างมีคุณภาพ ควรออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมที่ช่วยให้ร่างกายสดชื่น เช่น การเล่นโยคะ การปั่นจักรยาน การว่ายน้ำ การวิ่ง หรือการทำงานบ้าน จะช่วยให้ร่างกายสดชื่น รู้สึกแอคทีฟ และเพิ่มความดันเลือดได้ดีอีกด้วย
19.00 – 21.00 น. ช่วงเวลาของเยื่อหุ้มหัวใจ
ไม่ควรทำกิจกรรมใด ๆ ที่ส่งผลให้มีการสูบฉีดเลือดแรงกว่าปกติในช่วงเวลานี้ เนื่องจากเป็นเวลาการทำงานของระบบหมุนเวียนโลหิต การส่งเม็ดเลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย จึงเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายต้องการความสงบ สมองและร่างกายต้องการพักผ่อนอย่างเต็มที่ ควรเตรียมตัวนอน โดยอาจหากิจกรรมที่ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายก่อนเข้านอน เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลง สวดมนต์ นั่งสมาธิ เป็นต้น เพื่อขจัดความเครียดและความเหนื่อยล้าจากการทำงานมาตลอดทั้งวัน
21.00 – 23.00 น. ช่วงเวลาที่ร่างกายต้องการความอบอุ่น
21.00 – 23.00 น. เป็นช่วงเวลาที่ควรเข้านอน เพราะร่างกายจะปรับอุณหภูมิในร่างกายให้สมดุล จึงต้องการความอบอุ่นที่เหมาะสม โดยจะมีการหลั่งสารเมลาโทนิน เราจึงต้องทำร่างกายให้อบอุ่น อย่าปล่อยให้ร่างกายร้อนหรือหนาวเกินไป ไม่ควรอาบน้ำเย็นในช่วงเวลานี้ เพราะเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายอ่อนแอ อาจทำให้ป่วยได้ หรือถ้าอาบน้ำร้อน ก็จะทำให้ร่างกายตื่นตัวเกินไป จนอาจทำให้นอนหลับยาก แต่การดื่มนมอุ่น ๆ สักแก้ว อาจช่วยทำให้หลับสบายขึ้นได้
23.00 – 01.00 น. ช่วงเวลาของถุงน้ำดี
ควรจิบน้ำสักเล็กน้อยก่อนเข้านอน เพื่อช่วยให้ถุงน้ำดีได้มีน้ำเก็บไว้ใช้ในช่วงเวลาที่ร่างกายกำลังหลับ ทำให้น้ำดีไม่ข้นเกินไป เพราะถ้าน้ำดีข้นอาจทำให้ตื่นกลางดึก มีอาการปวดศีรษะ ปวดฟัน อารมณ์ฉุนเฉียวง่าย และมีอาการจามในช่วงเช้าได้