กฎหมาย

ทะเบียนบ้านสีเหลืองกับสีน้ำเงินต่างกันอย่างไร 

Published

on

เคยสงสัยกันไหมว่า ทะเบียนบ้านมีกี่ประเภท แล้วทะเบียนบ้านมีกี่สี และทะเบียนบ้านแต่ละสีทำอะไรได้บ้าง วันนี้แอดมินมีมาชี้แจงค่ะ

 

ทะเบียนบ้านคืออะไร 

ทะเบียนบ้าน คือ เอกสารทางราชการที่ใช้แสดงเลขประจำบ้านของแต่ละหลัง และแสดงรายชื่อของผู้อาศัยภายในบ้านหลังนั้น ๆ โดยทะเบียนบ้านในแต่ละหลังสามารถมีจำนวนสมาชิกอาศัยอยู่ได้เท่าไร ขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่ของบ้าน โดยตาม พ.ร.บ.สาธารณสุข พ.ศ. 2535 กำหนดให้มีเจ้าบ้านในทะเบียนบ้านได้เพียงแค่ 1 คน ส่วนจำนวนคนในบ้าน คิดตามพื้นที่ 3 ตารางเมตร / ผู้อาศัย 1 คน 

 

ทะเบียนบ้านมีกี่ประเภท

ทะเบียนบ้านแบ่งออกเป็นหลัก ๆ 2 ประเภท ได้แก่

  1. ทะเบียนบ้านสีน้ำเงิน ท.ร.14 สำหรับผู้มีสัญชาติไทย 

ทะเบียนบ้านสีน้ำเงิน ท.ร.14 คือ ทะเบียนบ้านสำหรับผู้มีสัญชาติไทย ซึ่งเป็นเล่มทะเบียนที่เราเห็นกันโดยทั่วไป ซึ่งมี “เจ้าบ้าน” เป็นเจ้าของบ้านหรือเป็นหัวหน้าครอบครัว ซึ่งการครอบครองบ้านในที่นี้ อาจเป็นเจ้าของบ้าน ผู้เช่า หรือในฐานะอื่นก็ได้เช่นกัน โดยเจ้าบ้านจะมีหน้าที่ตามกฏหมายทะเบียนราษฎร ที่ต้องแจ้งต่อนายทะเบียน ในกรณีต่อไปนี้ 

 

  1. มีคนเกิดในบ้าน 
  2. มีคนย้ายเข้า – ย้ายออก
  3. มีคนในบ้านเสียชีวิต
  4. ขอเลขที่บ้านใหม่ 
  5. มีการรื้อถอนบ้าน 
  6. มีสิ่งปลูกสร้างใหม่ 

 

โดยทุกข้อดังกล่าว จะต้องทำการแจ้งต่อเจ้าหน้าที่นายทะเบียน ภายในระยะเวลา 15 วัน หลังจากที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้น ยกเว้นกรณีมีคนเสียชีวิต จะต้องแจ้งต่อนายทะเบียนภายในระยะเวลา 24 ชั่วโมง หากไม่แจ้งตามเวลาที่กำหนดไว้ จะผิด พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 และฉบับที่ 2 ที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม เมื่อ พ.ศ. 2551 โดยมีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท

 

ทะเบียนบ้านสีน้ำเงินทำอะไรได้และไม่ได้บ้าง 

  1. หลังจากมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านครบ 1 ปี สามารถขายบ้าน หรือคอนโดมิเนียมนั้น ๆ ได้ โดยไม่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ แต่จะชำระเพียงค่าอากรแสตมป์ 0.5% และหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย เท่านั้น (ถ้ามี) 
  2. ทะเบียนบ้านของที่อยู่อาศัยในรูปแบบ “บ้าน” กับ ทะเบียนบ้านที่อยู่อาศัยในรูปแบบ “คอนโด” จะไม่ต่างกัน เนื่องจากทะเบียนบ้านจะมีเล่มทะเบียนบ้านเหมือนกัน แต่แตกต่างกันที่รายละเอียดที่ระบุไว้ด้านในเล่มทะเบียน โดยจะระบุว่าเป็น “บ้าน” หรือ “อาคารชุด” 
  3. ทะเบียนบ้านสีน้ำเงินใช้เป็นเอกสารแสดงความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ไม่ได้ เพราะได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ได้มาจากโฉนดที่ดินเท่านั้น 
  4. ไม่สามารถใช้ทะเบียนบ้านเล่มน้ำเงินเป็นหลักค้ำประกันได้ เพราะตามหลักเกณฑ์ของกรมที่ดินและกฏหมาย ได้มีการกำหนดไว้ว่า มีเพียงโฉนดที่ดิน หรือหนังสือกรมสิทธิห้องชุดเท่านั้น ที่สามารถจดทะเบียนเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันประเภทจำนองได้ 

  1. ทะเบียนบ้านสีเหลือง ท.ร. 13  สำหรับชาวต่างชาติ 

ทะเบียนบ้านสีเหลือง ท.ร.13 คือ ทะเบียนบ้านสำหรับผู้ที่ไม่ได้มีสัญชาติไทย แต่ได้รับอนุญาตให้อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว หรือเป็นผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทยที่ได้รับการผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นกรณีพิเศษ ตามกฏหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง เช่น 

 

  1. ในกรณีที่คนต่างชาติแต่งงานกับคนไทย เจ้าบ้านที่เป็นฝ่ายสามีหรือภรรยาที่มีสัญชาติไทยจะต้องไปแจ้งต่อสำนักทะเบียนตามภูมิลำเนาของทะเบียนบ้าน โดยกรอกคำร้องเกี่ยวกับทะเบียนราษฎร ท.ร.13 เพื่อขอเพิ่มชื่อบุคคลลงในทะเบียนบ้าน เอกสารที่ต้องเตรียมไปยื่นเรื่องขอทะเบียนบ้านเล่นเหลือง ได้แก่ สำเนาทะเบียนบ้าน – ฉบับเจ้าบ้าน , บัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าบ้าน , หนังสือเดินทางของชาวต่างชาติ , ทะเบียนสมรส , ใบอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงาน หรือหลักฐานอนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ในประเทศไทยชั่วคราวหรือถาวร 
  2. กรณีที่คนต่างชาติซื้ออพาร์ทเม้นท์หรือคอนโด จะต้องยื่นขอมีทะเบียนบ้านบุคคลต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฏหมาย และได้รับอนุญาตให้มีถิ่นฐานที่อยู่ในราชอาณาจักร หรือมีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว หรือเป็นคนต่างด้าวตามกฏหมายที่กำหนดมีสิทธิ์ซื้อห้องชุด อาคารได้ไม่เกิน ร้อยละ 49 ของจำนวนห้องชุดทั้งหมดในอาคารนั้น ๆ และมีสิทธิขอทะเบียนบ้าน ประเภท ท.ร.13 ได้ โดยนำหลักฐานตามข้อแรกไปติดต่อสำนักงานเขตตามที่ตั้งของอาคารนั้น 
  3. ซื้อคอนโด โดยมีชื่อคนไทยและคนต่างชาติร่วมด้วย ใครจะได้เป็นเจ้าบ้าน? กรณีแบบนี้ การจะทำทะเบียนบ้าน เจ้าบ้านไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ถือสิทธิ์ในบ้านหรือคอนโดชุดนั้น เนื่องจากเจ้าบ้าน คือ หัวหน้าครอบครัว ผู้ครอบครองบ้านในฐานะผู้เช่า หรือในฐานะอื่น ๆ ซึ่งหน้าที่เจ้าบ้านมีหน้าที่ในการแจ้งเหตุการณ์หรือเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับบ้านเท่านั้น เช่น การแจ้งเกิด แจ้งตาย แจ้งจำนวนสมาชิกย้ายเข้าออก ดังนั้น กรณีที่มีคนต่างด้าวและคนไทยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน ควรให้คนไทยได้เป็นเจ้าบ้านเพื่อดำเนินการต่าง ๆ ตามกฏหมายกำหนดได้สะดวกและราบรื่น 

 

เอกสารที่ใช้ในการยื่นเรื่องทำทะเบียนบ้านเล่มเหลือง ท.ร.13 มีอะไรบ้าง 

  1. สำเนา Passport 
  2. หนังสือแจ้งที่พักอาศัยสำหรับชาวต่างชาติที่ออกให้โดย ตม. 
  3. สูติบัตร
  4. ทะเบียนสมรส 
  5. สำเนาทะเบียนบ้านไทย ที่จะทำการแจ้งให้ชาวต่างชาติเข้าพักอาศัย 
  6. พยานบุคคล 2 คน พร้อมบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของพยาน
  7. รูปถ่าย 2 นิ้ว จำนวน 5 รูป สำหรับใช้ที่สำนักงานเขต 3 รูป และใช้ที่ด่าน ตม. 2 รูป

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

กำลังมาแรง

Exit mobile version