ทาร์ตไข่ ขนมหวานแสนอร่อย คัสตาร์ดจากแป้งพายกรอบ ๆ แต่นุ่มละมุนลิ้นด้วยไข่แดง กลิ่นหอม ๆ ยามออกจากเตาร้อน ๆ จึงไม่แปลกที่ใครหลายคนจะโปรดปรานขนมชนิดนี้ และคนส่วนใหญ่ก็มักเข้าใจว่าเป็นขนมต้นตำรับจากเมืองฮ่องกงหรือมาเก๊า เพราะเป็นของขึ้นชื่อลือชาที่ใครไปเที่ยวแล้วต้องชิม ต้องซื้อกลับมาฝากคนที่บ้าน แต่ที่จริง ต้นกำเนิดของทาร์ตไข่กลับไม่ใช่ในโซนเอเชีย แต่กลับมีที่มาจากคนละฝั่งทวีปเสียด้วยซ้ำ! แถมคนที่คิดค้นสูตรทาร์ตไข่ ก็ไม่ใช่นักทำขนม หรือพ่อครัว แม่บ้านที่ไหน แต่ทาร์ตไข่ คือ เมนูกำจัดไข่แดงเหลือทิ้งจากการซักรีดของพระในอาราม !! โอ้ละหนอ เป็นไงมาไงกันละนี่ ถ้าอย่างนั้นต้องตามไปดูประวัติทาร์ตไข่ มาจากประเทศอะไรกันแน่ และทำไมจากของเหลือทิ้งจึงกลายเป็นขนมแสนอร่อยสุดฮิตที่รู้จักกันทั่วโลก
ย้อนกลับไปถึงต้นกำเนิดของทาร์ตไข่ คือ ขนมหวานสัญชาติของโปรตุเกส เรียกว่า Pastéis de Nata ซึ่งมีประวัติมาอย่างยาวนาน โดยสูตรขนมชนิดนี้เกิดขึ้นในช่วงก่อนศตวรรษที่ 16 โดยพระสงฆ์คาทอลิก จากอาราม Hieronymites ในลิสบอน ซึ่งในสมัยนั้น พระและชีจะใช้ไข่ขาวเพื่อทำให้เสื้อผ้าอยู่ทรง ทำให้มีการใช้ไข่ขาวในปริมาณมาก จึงมีไข่แดงเหลือทิ้งจำนวนมากตามไปด้วย และด้วยเมืองลิสบอนในตอนนั้นเป็นอาณาจักรใหม่ที่เป็นเส้นทางการค้าสำคัญ ทำให้มีสินค้านำเข้ามาแลกเปลี่ยนค้าขายมากมาย โดยหนึ่งในนั้นก็คือน้ำตาล และโปรตุเกสเองก็สามารถเข้าถึงโรงงานน้ำตาลได้มากถึง 2,500 แห่ง เมื่อมีไข่แดงเหลือทิ้งมากมาย ประกอบกับน้ำตาลก็มีอยู่มากในขณะนั้น พระและชีในวัดจึงเกิดไอเดียนำทั้งสองสิ่งนี้มาอบเป็นขนมต่าง ๆ เป็นแนวทางและวิธีการลดขยะอาหาร ไม่ให้ไข่แดงถูกทิ้งโดยเปล่าประโยชน์ จนได้กำเนิดเมนูใหม่อย่าง “ทาร์ตไข่” ขึ้นมา
Egg tart on wooden background.
ต่อมาในช่วงศตวรรษที่ 1800 เกิดสงครามกลางเมืองจนเกิดความวุ่นวายในโปรตุเกส เกิดการปฏิวัติเสรีนิยม ลุกลามใหญ่โตจนกระทั่ง ค.ศ.1820 รัฐบาลโปรตุเกสได้หยุดจ่ายเงินให้กับวัดต่าง ๆ เมื่อไม่เงินสนับสนุนกิจกรรมภายในวัด ทำให้อารามและคอนแวนต์หลายแห่งต้องปิดตัวลง ส่วนวัด Jeronimos ที่ทำทาร์ตไข่กินกันเองภายในวัด เพื่อจะได้ไม่ต้องทิ้งไข่แดงให้สูญเปล่า ก็ได้ทำทาร์ตไข่ออกมาขายเพื่อหารายได้ให้วัดยังคงดำเนินการต่อไปได้ และด้วยที่เขตเบเล็มที่ตั้งของวัดนี้อยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองลิสบอน จึงมักมีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมความสวยงามของวัดแห่งนี้ รวมไปถึงสถาปัตยกรรมอื่น ๆ ในบริเวณใกล้เคียง ทำให้ทาร์ตไข่กลายเป็นที่รู้จักและขยายเป็นวงกว้างมากขึ้น และเป็นที่ชื่นชอบจนได้รับความนิยมของนักท่องเที่ยว และเมืองอื่น ๆ ในโปรตุเกส
Egg tart on wooden background.
แต่แล้วก็สุดที่จะยื้อได้ อารามถูกสั่งปิดตัวลง แต่เพื่อไม่ให้ทาร์ตไข่ขนมยอดนิยมของทุกคนสูญหายไป พระลูกวัดจึงได้ขายสูตรทาร์ตไข่ให้กับเจ้าของโรงกลั่นน้ำตาล และ 3 ปีต่อมา โรงกลั่นได้เปิดร้านเบเกอร์รี่มีชื่อว่า “Fábrica de Pastéis de Belém” โดยมีเมนูเด็ดและโด่งดังก็คือ ทาร์ตไข่ โดยเรียกว่า “Pastéis de Belém” (เพื่อไม่ให้ซ้ำกับ Pastéis de Nata) กลายเป็นร้านทาร์ตไข่ที่มีชื่อเสียงของโปรตุเกส และเป็นต้นตำรับของทาร์ตไข่ที่ได้แพร่กระจายไปทั่วทุกมุมโลก
ขนมอบจากเมืองโปรตุเกสได้ข้ามทวีปมาเติบโตในเอเชีย เพราะฮ่องกงและมาเก๊าเคยเป็นส่วนหนึ่งของประเทศอังกฤษและโปรตุเกสมาก่อน ทำให้มีการสืบทอดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน และกลายเป็นขนมที่ขึ้นชื่อของทั้งสองประเทศนั่นเอง