Connect with us

บ้านและสวน

ดูให้ออกระหว่าง งูพิษกับงูไม่มีพิษ ทำอย่างไรเมื่อเจองู

Published

on

งูในประเทศไทยมีหลากหลายพันธุ์ด้วยกัน ทั้งงูมีพิษ และ งูไม่มีพิษ แต่ด้วยพื้นฐานความกลัวของคน ทำให้ส่วนใหญ่เมื่อเจองูหากไม่หนี ก็ทำร้ายหรือตีจนตายเพื่อป้องกันตนเองไว้ก่อน  ทำให้งูที่ไม่มีพิษโดนหางเลขไปด้วย จนงูไร้พิษบางชนิดเกือบสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทย หรือบางคนเห็นว่างูตัวเล็กไม่น่ามีพิษสงอะไร ยุให้สัตว์เลี้ยงขับไล่งู และโดนพิษของงูจนสัตว์เลี้ยงได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต สร้างความเสียให้กับผู้เป็นเจ้าของ แล้วเราจะมีวิธีรับมือกับงูเหล่านี้อย่างไร และสังเกตอย่างไรว่างูมีพิษหรืองูไม่มีพิษกันแน่ 

ดวงตาของงู 

งูไม่มีพิษมักจะมีรูม่านตากลม ในขณะที่งูมีพิษจะมีม่านตาแนวตั้ง แต่ก็ไม่เสมอไป เพราะงูมีพิษบางชนิดอาจมีรูม่านตากลมเช่นกัน จนอาจทำให้แยกออกลำบาก เช่น งูเห่า งูแบล็คแมมบา (แอฟริกา)  และงูไทปัน (ออสเตรเลีย) และ งูไม่มีพิษบางชนิดก็สามารถปรับเปลี่ยนรูม่านตาให้กลายเป็นรูปสามเหลี่ยมแนวตั้งเหมือนงูมีพิษเมื่อตกอยู่ในอันตราย เช่น งูหมอก

ลักษณะทรงหัวงู 

งูมีพิษจะมีลักษณะหัวทรงสามเหลี่ยม และมีความกว้างกว่าบริเวณคอของมัน ในขณะที่งูไม่มีพิษจะมีหัวทรงโค้งมน  

เกล็ดงู

เกล็ดของงูพิษจะมีลักษณะเกล็ดแถวเดียวที่บริเวณปลายหาง แต่งูไม่มีพิษจะมีเกล็ดแบ่งเป็น 2 แถวตรงปลายหาง 

รูจมูกเหนือปากงู

ปกติของงูพิษจะสามารถรู้ตำแหน่งของเหยื่อด้วยรังสีความร้อนที่แผ่ออกมา ด้วยการผ่านอวัยวะที่มีลักษณะเป็นรูเล็ก ๆ คล้ายรูจมูก เรียกว่า Pit Organ ซึ่งทำหน้าที่เป็นเรดาร์ในการล่าเหยื่อ มีความแม่นและจับวางยิ่งกว่าดวงตาของงูเสียอีก 

สีสัน 

งูพิษส่วนใหญ่มีสีสันสดใส สวยงาม มักจะทำเสียงขู่ศัตรูได้ หรือ ทำเสียงสั่น เช่น งูหางกระดิ่ง พฤติกรรมก้าวร้าว 

รูปทรง ลวดลาย 

ส่วนใหญ่ลวดลายงูพิษเป็นทรงสามเหลี่ยม ทรงคล้ายเพชร หรือ มีสามสีบนผิวหนัง ในขณะที่งูไม่มีพิษมักจะไม่มีสีและลวดลาย แต่ก็ไม่แน่นอนเสมอไป เพราะงูไร้พิษบางชนิดมีลวดลายจนทำให้คนสับสนและเข้าใจผิดว่าเป็นงูพิษ เช่น งูน้ำที่ไม่มีพิษ กับ วงศ์งูแมวเซา มักจะมีลักษณะและลวดลายคล้ายกัน แต่ถ้าสังเกตดี ๆ จะเห็นว่าต่างกันตรงที่วงศ์งูแมวเซามีลวดลายวงกลมหรือซิกแซกพาดลำตัว ส่วนงูน้ำมีลายสีเหลืองรอบคอ 

ลักษณะการเคลื่อนตัวในน้ำ 

หากพบเจองูเมื่ออยู่ในน้ำ สังเกตการเคลื่อนไหวของงู ถ้าเป็นงูพิษจะว่ายน้ำโดยให้เห็นทั้งตัวเหนือน้ำ แต่ถ้าว่ายน้ำโดยลำตัวจมอยู่ใต้น้ำมักจะเป็นงูไม่มีพิษ เช่น งูกินปลา เป็นต้น 

 

การป้องกันไม่ให้ถูกงูกัด 

  • จัดบ้านอย่าให้รกจนกลายเป็นแหล่งที่อยู่ของหนู เพราะหนูคืออาหารชั้นเลิศของงูทั้งหลาย ที่ไหนมีหนู จะเชิญชวนให้งูเข้าบ้านโดยอัตโนมัติ ดังนั้น คอยทำความสะอาดบ้าน จัดบ้านให้สะอาด ไม่เป็นแหล่งกบดานของหนู นอกจากจะป้องกันการเรียกงูเข้าบ้านโดยไม่ได้รับเชิญ ยังช่วยป้องกันโรคที่มีหนูเป็นพาหะด้วยเช่นกัน 
  • กรณีที่มีสวนหญ้า ควรตัดหญ้าที่รกให้เตียน และจัดสวนให้โล่งที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้สวนของบ้านกลายเป็นแหล่งกบดานของงูทั้งหลาย และยังช่วยให้สามารถสังเกตเห็นงูได้ชัดเจน แถมสวนดูสวยงามสบายตา
  • หลายตำราแนะนำให้ใช้ผ้าชุบแอมโมเนียวางรอบบริเวณบ้าน เนื่องจากงูไม่ชอบกลิ่นแอมโมเนีย และกลิ่นของสารแอมโมเนียรบกวนประสาทของงู ทำให้งูไม่ชอบหนีห่างไปเอง โดยไม่ทำอันตรายต่องู เป็นการไล่งูเท่านั้น ไม่ได้ทำร้ายงูแต่อย่างใด 
  • ปกตินิสัยงูจะไม่โจมตีมนุษย์ก่อน หากไม่ไปรบกวนหรือทำให้งูตกใจจนต้องป้องกันตัว และงูจะมีความดุร้ายมากขึ้นในช่วงฤดูผสมพันธุ์ ระหว่างเดือนมิถุนายน และ เดือนกรกฎาคม เพราะฉะนั้นอย่าพยายามอย่าไปทำแหย่ หรือทำให้งูตกใจและหวาดกลัว เพราะมันสามารถพ่นพิษได้มากกว่าปกติ 
  • ถ้าต้องเข้าป่าหรือในที่บริเวณที่มีหญ้ารก หรือเข้าข่ายเป็นที่อยู่ของงูโดยธรรมชาติ ควรใส่รองเท้าที่ปิดมิดชิดและมีขอบสูง มีความหนาเพื่อป้องกันคมเขี้ยวของงู และควรหลีกเลี่ยงเดินในบริเวณที่มีต้นหญ้าสูง ใบไม้ทับถมจำนวนมาก และพื้นที่เปียกชื้น เพราะอาจมีงูอาศัยอยู่โดยที่เราไม่สามารถมองเห็นตัวได้ จะทำให้โดนงูฉกกัดโดยไม่ทันระวัง 
  • เมื่อจำเป็นต้องเข้าในป่าหรือบริเวณที่อาจเป็นแหล่งอาศัยของงู ควรใช้ไม้แหวกหญ้าให้เกิดเสียงดังก่อนจะเดินไป เพื่อให้งูได้ยินเสียงและล่าถอยออกไป 
  • เมื่อต้องพักแรมในป่า ควรปิดไฟ เพราะแสงไฟจะเป็นตัวดึงดูดเรียกงูให้เข้าหา และควรสบัดหรือเขย่าเสื้อผ้าก่อนสวมทุกครั้ง รวมถึงการเคาะรองเท้าด้วยเช่นกัน 
  • หากงูเลื้อยหนีไปแล้ว อย่าไล่ตามงู เพราะมันจะยิ่งกระตุ้นให้งูกลับมาแว้งกัดได้ 

 

รู้ได้อย่างไรงูที่กัดเป็นงูพิษหรือไม่มีพิษ 

รอยกัด 

หากโดนงูกัด ให้รีบสังเกตรอยกัด ลักษณะรอยกัดของงูมีพิษจะเป็นรอยฟัน 2 ชุด และรอยเขี้ยวใหญ่เห็นได้ชัดเจน ในขณะที่งูไม่มีพิษรอยฟันจะเล็กกว่า 

 

อาการหลังจากถูกกัด  

ผิวหนังบริเวณรอยกัดเริ่มบวมและซีด รู้สึกเจ็บปวด คลื่นไส้ หายใจลำบาก กล้ามเนื้ออ่อนแรง มีไข้ ความดันโลหิตสูง 

 

การปฐมพยาบาลเมื่อถูกงูกัด 

เมื่อถูกงูกัด ไม่ว่าจะเป็นงูชนิดใดก็ตาม ควรรีบไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด เพื่อทำการวินิจฉัย สามารถรักษาได้ถูกต้องและทันท่วงที โดยระหว่างที่รอเจ้าหน้าที่หรือรถฉุกเฉินมารับตัว สามารถทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาได้มากขึ้น และลดความเสี่ยงการสูญเสียได้ โดยทำได้ดังนี้ 

 

  • สำรวจบริเวณผิวหนังที่ถูกกัด ถ้ามีพิษค้างอยู้ด้านนอก ควรนำพิษออกอย่างระมัดระวัง เพื่อป้องกันไม่ให้พิษเข้าสู่บาดแผล 
  • ดื่มน้ำให้มาก ๆ เพื่อป้องกันร่างกายขาดน้ำ ห้ามดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนทุกชนิด  
  • อย่าขยับร่างกายให้มาก ควรอยู่นิ่ง ๆ ให้มากที่สุด เพราะอัตราการเต้นของหัวใจ มีผลต่อการแพร่กระจายของพิษงู หัวใจเต้นเร็วเท่าไรยิ่งสูบฉีดพิษให้แล่นไปตามกระแสเลือดได้เร็วยิ่งขึ้น 
  • ไม่ควรตัดหรือกรีดบาดแผลเพื่อนำพิษงูออกเอง ห้ามนำอะไรไปทาแผล และห้ามขันชะเนาะเองเด็ดขาด แต่ควรให้ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ดูแล หากไม่มี ควรส่งตัวผู้ป่วยให้ถึงมือหมอให้เร็วที่สุด 
  • กรณีที่ตีงูตาย ควรนำซากงูไปให้แพทย์ได้ตรวจสอบด้วย เพื่อจะได้ทำการรักษาได้ถูกต้องกับชนิดพิษของงู หรืองูหนีไปได้แต่รู้จักชนิดของงูหรือลักษณะเด่นของงูได้ ควรจดจำและแจ้งแก่แพทย์ด้วยเช่นกัน 

 

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเจองูชนิดใดหรือที่ไหนก็ตาม ไม่ควรไปยุ่งกับมัน ควรหลีกหนีให้ห่างที่สุด และแจ้งเจ้าหน้าที่หรือหน่วยกู้ภัย เช่น สวพ.91 , จส.100 หรือ 1169  และสำหรับใครที่มีสัตว์เลี้ยง ควรนำสัตว์เลี้ยงออกห่างไกลงูด้วยเช่นกัน ไม่ควรให้สัตว์เลี้ยงไปไล่ต้อนงูเด็ดขาด หากไม่อยากเสียสัตว์เลี้ยงแสนรักของคุณไปตลอดกาล 

Continue Reading
Click to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

กำลังมาแรง